วิธีการปฐมพยาบาลเมื่อแมลงเข้าหู ทำเองได้ง่ายๆ เก็บไว้ยามฉุกเฉิน

0

วิธีการปฐมพยาบาลเมื่อแมลงเข้าหู ทำเองได้ง่ายๆ เก็บไว้ยามฉุกเฉิน

เชื่อว่าหลายคนคงจะเป็นกังวลใจในเรื่องของแมลงเข้าหู ปัญหานี้มักเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย เมื่อมีแมลงหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าไปภายในรูหูของเรานั้น อาจจะก่อให้เกิดอันตรายได้ วันนี้เราได้มีบทความรู้ดีๆมาฝากเพื่อนๆทุกคน เป็นวิธีการปฐมพยาบาล และวิธีการป้องกัน อ่านรายละเอียดด้านล่างเลย

แมลงเข้าหู อันตรายไหม?

การที่มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในหูสามารถทำให้เกิดอันตรายได้ โดยเฉพาะแมลง เพราะแมลงที่อาจจะนำเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดโรคหูอักเสบหรือเชื้อราในช่องหู ยิ่งถ้าหากเป็นเห็บและหมัดสุนัขก็จะยิ่งอันตรายเพิ่มขึ้น เพราะน้ำลายของหมัดจะก่อให้เกิดอาการคันอย่างมาก ส่วนเห็บก็มีเชื้อแบคทีเรียที่เมื่อเข้าสู่กระแสโลหิต ก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสโลหิตที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

แมลงเข้าหู อาการเป็นอย่างไร รู้สึกอย่างไร?

เมื่อมีแมลงเข้าไปในหูแล้ว อาการที่สังเกตได้ชัดก็คือจะเกิดอาการปวดหูอย่างเฉียบพลัน และจะรู้สึกเหมือนมีอะไรบางอย่างอยู่ในหู จะรู้สึกเหมือนมีอะไรเดินหรือบินอยู่ในหู ทำให้เกิดความรำคาญได้ ทั้งนี้หากเป็นแมลงตัวใหญ่ก็อาจจะทำให้รู้สึกแน่น ๆ ภายในหู หรือทำให้หูตึงไปชั่วขณะ

แมลงเข้าหู ปฐมพยาบาลอย่างไร?

แมลงที่สามารถเข้าไปในหูได้นั้น มีหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นแมลงตัวเล็ก ๆ อย่างเช่น มด ยุง แมลงหวี่ แมงเม่า แมลงวัน เห็บ หมัด หรือแม้แต่แมลงตัวใหญ่ อย่างเช่น แมลงสาบ เป็นต้น

ซึ่งวิธีแก้ไขปัญหาแมลงเข้าหูมีดังนี้

1. หากมีแมลงเข้าไปในหู ควรรีบเอียงศีรษะข้างที่แมลงเข้าไปในหูขึ้น แล้วใช้เบบี้ออยล์ น้ำมันมะกอก น้ำมันพืช หรือยาหยอดหู ค่อย ๆ หยอดลงไปในหู

2. โดยดึงใบหูไปด้านหลังเพื่อให้รูหูอยู่ในแนวตรง เพื่อให้แมลงสามารถหนีขึ้นหรือลอยขึ้นมาได้ จากนั้นอยู่ในท่านั้นประมาณ 15-30 นาที เพื่อให้แมลงที่เข้าไปในหูลอยขึ้นมาเอง

3. ทั้งนี้หากแมลงเข้าไปในหูแล้วมีอาการเจ็บภายในหู ไม่ควรหยอดน้ำมันใด ๆ ลงไป เพราะอาจจะทำให้อาการยิ่งรุนแรงขึ้น อีกทั้งยังไม่ควรใช้นิ้วมือหรือสิ่งของลงไปแคะหรือเขี่ย เพราะอาจจะทำให้แมลงยิ่งลงไปลึกกว่าเดิมและอาจเป็นอันตรายต่อแก้วหู และหูชั้นกลางได้

อย่างไรก็ตาม หากแมลงที่เข้าหูเป็นแมลงตัวเล็ก อย่างเช่น แมงเม่า แมลงหวี่ หรือยุง ถ้ายังมีชีวิตก็สามารถใช้วิธีใช้ล่อให้ออกมาได้ โดยนำไฟฉายส่องเข้าไปในหูสักพักหนึ่ง แต่วิธีนี้จะต้องทำในที่ที่มืดสนิทและไม่มีแสงเข้าเท่านั้น

ทั้งนี้หากทำตามวิธีข้างต้นแล้วแมลงยังไม่ออกมา หรือมีอาการแทรกซ้อนอย่างอื่น เช่น อาการปวดหูอย่างรุนแรง มีโลหิตหรือน้ำไหลออกมาจากหู หูอื้อจนไม่ได้ยินเสียงก็ควรรีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหูคอจมูกในทันที อย่าทิ้งไว้นาน เพราะอาจเกิดการติดเชื้อจนทำให้อาการร้ายแรงขึ้น

แมลงเข้าหู ป้องกันได้

ส่วนในเรื่องของวิธีป้องกัน วิธีที่ดีที่สุดก็คือหลีกเลี่ยงจากบริเวณที่มีแมลงชุกชุม แต่ถ้าหากต้องอยู่บริเวณที่มีแมลงชุกชุมเป็นเวลานานก็ควรที่จะสวมที่ครอบหู หรือใส่ที่อุดหู หากไม่มีจะใช้สำลีอุดแทนก็ได้เพื่อป้องกันไม่ให้แมลงเข้าหู นอกจากนี้ยังไม่ควรให้สุนัขหรือสัตว์เลี้ยงขึ้นมานอนบนที่นอน เพราะอาจจะทำให้เห็บและหมัดตกอยู่บนที่นอนและเข้าหูได้

ปัญหาเรื่องแมลงเข้าหูเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้นจึงควรระมัดระวังและอยู่ห่างจากแหล่งที่มีแมลงอยู่เป็นจำนวนมากจะดีที่สุด และควรหมั่นทำความสะอาดหูอยู่เสมอ เพราะหูที่สกปรกก็สามารถดึงดูดแมลงได้เช่นกันค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

Facebook Comments

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here