เรียนที่ไหนก็เก่งได้ นักศึกษา กศน. สอบติดแพทย์ บอกเคล็ดลับความสำเร็จ
เปิดใจน้องนักศึกษา กศน. ที่ได้สอบติดแพทย์เป็นคนแรกของประเทศบ้านเรา ไม่ว่าจะเรียนที่ไหนเราก็สามารถพัฒนาตัวเอง ไม่ว่าจะเรียนที่ไหนเราก็เก่งได้ บางทีไม่ได้ขึ้นอยู่ที่สถาบันแต่ขึ้นอยู่กับตัวเราเองมากกว่า
“ความฝันไม่จำเป็นต้องตรงใจใคร ขอแค่มันตรงใจเราก็พอ”
วรวิทย์ คงบางปอ หรือ น้องวิทย์
– สอบติด วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า จากการสอบคัดเลือกระบบรับตรง ของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไท ย(กสพท.) ปีการศึกษา 2557
– จบหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนสายสามัญ (กศน.) ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จาก กศน.อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง
แนะนำตัวเอง : ครับ วรวิทย์ คงบางปอ หรือ น้องวิทย์ ตอนนี้อยู่จังหวัดระนอง ระดับประถมศึกษาเรียนที่โรงเรียนหมิงซิน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเรียนที่โรงเรียนพิชัยรัตนาคาร เรียนหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนสายสามัญ (กศน.) ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่ กศน.อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง ตอนนี้จบหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนสายสามัญ (กศน.) ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย แล้วครับ
ทำไมถึงเรียน กศน. แทนที่จะเลือกเรียนในโรงเรียนสายสามัญ : ในตอนแรกผมย้ายไปเรียนที่โรงเรียนแห่งหนึ่งที่จังหวัดนนทบุรีครับ แต่มีปัญหาเลยต้องย้ายกลับมาเรียนที่จังหวัดระนอง ตอนกลับมาสมัครเข้าเรียนในโรงเรียนสายสามัญที่จังหวัดระนอง ทางโรงเรียนแจ้งว่า ไม่รับ เพราะหน่วยกิตไม่ครบ ประโยคเด็ดที่สุดที่จำได้เลย คือ “ถ้าไม่มีที่เรียนก็ไปเรียน กศน. ซะ”
จากวันนั้นผมเลยตั้งใจว่า ผมจะต้องสำเร็จให้ได้ คนที่เรียน กศน. ไม่ได้หมายความว่าเป็นเด็กไม่ดีเสมอไปหรอกครับ แต่คนส่วนใหญ่อาจจะมองแบบนั้น ทำให้เราไม่ได้รับการศึกษาเท่าที่ควร มีเพื่อนผมหลายคนครับที่อยากจะเรียนต่อ แต่เพราะติดปัญหาในหลายๆด้าน
เรียน กศน. ต่างจาก เรียนในโรงเรียนสายสามัญ อย่างไร : ความแตกต่างนั้น กศน. กับ โรงเรียนสายสามัญ แตกต่างกันมากครับ สิ่งที่ผมได้จากการเรียน กศน. คือ ส่งรายงาน เข้าอบรม ทำให้ถ้าอยากเรียนอะไรหรืออยากรู้อะไรต้องขวนขวายมากกว่าในโรงเรียนสายสามัญ แต่เอาเข้าจริงๆ ไม่ว่าจะเรียนที่ไหน ถ้าเราไม่ขวนขวายมันก็ไม่สำเร็จหรอกครับ ผมเชื่ออย่างนั้น
ทำไมอยากเรียนแพทย์ : ไม่รู้จะโลกสวยไปมั้ย ถ้าจะบอกว่า ผมอยากช่วยเหลือคนอื่น ผมเคยลำบากครับ เคยไม่มีที่จะเรียน เคยไม่มีใครยื่นมือมาช่วยเหลือ ผมคิดว่า ผมเข้าใจความรู้สึกพวกนั้น อีกอย่างคือ ตอนที่ผมไปเรียน กศน. พ่อแม่เสียใจมาก ผมอยากจะทำให้ท่านดีใจสักครั้ง
4 อันดับใน กสพท. เลือกอะไรบ้าง ?
อันดับ 1 วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า (ได้ที่นี่ครับ)
อันดับ 2 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
อันดับ 3 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
อันดับ 4 คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
คะแนน 7 วิชาสามัญ และ คะแนนวิชาเฉพาะ กสพท.
คะแนน 7 วิชาสามัญ ได้คะแนน
– คณิตศาสตร์ 60 คะแนน
– สังคมศึกษา 40 คะแนน
– ภาษาไท ย 78 คะแนน
– ภาษาอังกฤษ 55 คะแนน
– เคมี 70 คะแนน
– ชีววิทยา 65 คะแนน
– ฟิสิกส์ 64 คะแนน
คะแนนวิชาเฉพาะ กสพท. ได้ 20.6111 %
รวมได้ 63.5444 %
เคยสมัครสอบรับตรงอะไรมาบ้าง : สมัครโครงการรับตรง KU Admission ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน ครับ มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ ครับ
เตรียมตัวสอบอย่างไร : ทำการติวเนื้อหาในแต่ละวิชานั้นๆ แล้วลองทำโจทย์ต่างๆ ในหนึ่งวันพยายามอ่านหนังสือให้มากวันละอย่างน้อย 7 ชั่วโมง หรือถ้าหากรู้สึกเหนื่อยนั้นหรืออ่านไปแล้วไม่เข้าหัวยังไม่ค่อยรู้เรื่อง ก็จะหาอย่างอื่นที่ชอบทำไปก่อนแล้วกลับมาอ่านใหม่ ในช่วง 1 เดือนก่อนสอบนั้น จะเก็บรายละเอียดเนื้อหาหลักเนื้อหาที่สำคัญเท่าที่จะทำได้ ในหนึ่งอาทิตย์จะมีวันที่ว่าง 1 วันเพื่อพักผ่อนให้เต็มที่
นอกจากอ่านหนังสือแล้ว ชอบทำอะไร ทำกิจกรรม ทำงาน หรือมีความชอบความสนใจ ในเรื่องอะไรบ้าง : ปกติก็ชอบดูหนัง ฟังเพลง ร้องเพลงเหมือนวัยรุ่นทั่วไปครับ แล้วก็จะมีไปช่วยงานสังคมบ้าง เช่น จัดงานเลี้ยงเด็กกำพร้า ช่วยครอบครัวคนแคระ ครับ
รู้สึกกดดันหรือได้รับแรงกดดันอะไรบ้าง จากที่เราเรียน กศน. แล้วอยากสอบเข้าแพทย์ให้ได้ และจัดการกับสิ่งเหล่านั้นอย่างไร : แรงกดดันก็มีพอสมควรครับ จากสิ่งรอบข้าง บางคนไม่เข้าใจสิ่งที่เราเลือก บางคนบอกเราคงทำไม่ได้ แต่ผมไม่ได้สนใจความคิดของพวกเขาครับ ผมรู้แค่ว่าผมต้องทำอะไรแล้วทำให้ดีที่สุด ถ้าพวกเขาเหนื่อยพวกเขาคงจะหยุดกันไปเอง จะทำได้หรือไม่ได้ อยู่ที่ตัวเราเองมากกว่าครับ
อยากจะฝากอะไรถึงเพื่อนๆ น้องๆ ที่เรียน กศน. แล้วอยากสอบแพทย์ รวมถึงสอบเข้ามหาวิทยาลัย : สิ่งที่อยากฝากคือ ชีวิตคนเราไม่มีอะไรได้มาง่ายๆหรอกครับ ถ้าไม่ทำก็ไม่ได้ สำหรับน้องคนไหนที่มีความฝันไม่ว่ามันจะเล็กหรือใหญ่ ไม่ว่าใครจะพูดยังไงไม่สำคัญ มันอยู่ที่ตัวน้องครับ แค่กำหนดเป้าหมายแล้วลงมือทำ ความฝันไม่จำเป็นต้องตรงใจใคร ขอแค่มันตรงใจเราก็พอ
ถ้าจะให้คนอื่นๆจดจำได้ อยากให้คนอื่นๆจดจำในฐานะอะไร หรือ ในรูปแบบไหน : ผมคงไม่ขอให้จดจำผมว่าเป็นใครหรอกครับ ผมหวังแค่ สำหรับน้องที่พยายามจะทำตามความฝัน ถ้าน้องท้อหรือไม่มีกำลังใจ เรื่องของพี่อาจจะพอช่วยน้องได้บ้าง ขอบคุณครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก : วรวิทย์ คงบางปอ