“น้ำมันไพล” หลายคนไม่รู้จัก ประโยชน์ไม่ใช่ย่อย

0

“น้ำมันไพล” หลายคนไม่รู้จัก ประโยชน์ไม่ใช่ย่อย

คนไทยบ้านเราในสมัยก่อนนั้นมักน้ำสมุนไพรไทยที่ชื่อว่า “ไพล” มาใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดบวมช้ำ หรือเพื่อสมานแผลนั่นเอง

หลายคนเข้าใจผิดว่า “ไพล” นั้นมีสรรพคุณเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ความจริงแล้วยังมีสรรพคุณอีกมากมายที่คนรุ่นเราในสมัยนี้ไม่รู้

สรรพคุณแต่ละส่วนของไพล

ไพล ถือเป็นสมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณในการรักษาเกือบทุกส่วน ซึ่งสรรพคุณในแต่ละส่วน มีดังนี้

1. เหง้า

เหง้าจัดเป็นส่วนที่มีประโยชน์มากที่สุดของไพล เพราะสามารถนำมาใช้รักษาอาการต่างๆ ได้มากมาย นำมาเป็นส่วนประกอบของลูกประคบ หรือนำมาฝนเพื่อใช้สมานแผล แก้ฟกช้ำ ปวด บวม เหน็บชา เส้นตึง ปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอก ข้อเท้าแพลง หรือทาบรรเทาอาการผื่นคันจากการแพ้ โรคผิวหนัง แก้ฝี ดูดหนอง และเป็นยากันเล็บถอดได้

2. ราก

รากไพลมีรสขื่นเอียน มีสรรพคุณช่วยขับโลหิต ขับระดูให้มาตามปกติ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ท้องผูก เคล็ดขัดยอก โรคผิวหนัง โรคอันบังเกิดแต่โลหิตอันออกทางปากและจมูก และแก้อาเจียนเป็นโลหิต

3. ดอก

ดอกไพลจะมีรสขื่น ช่วยสลายลิ่มโลหิต กระจายโลหิตอันเกิดแต่อภิญญาณธาตุ ขับโลหิต แก้อาเจียนเป็นโลหิต แก้กำเดาออกทางจมูก แก้ช้ำใน ขับระดู และทำลายโลหิตเสีย

4. ต้น

ต้นไพลมีรสฝาด ขื่นเอียน แก้ธาตุพิการ แก้อุจจาระพิการ

5. ใบ

ใบไพลประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหยหลายชนิด เช่น sabinene, β-pinene, caryophyllene oxide และ caryophyllene มีรสขื่นเอียน ช่วยแก้ไข้ แก้ปวดเมื่อย และแก้ครั่นเนื้อครั่นตัว

6. ช่อดอก

ช่อดอกไพลนำมาต้มจิ้มน้ำพริกรับประทานได้

ตำรับยาจากไพล

ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชีหลักแห่งชาติ ปรากฏการใช้เหง้าไพล ในหลายขนาน เช่น

1. ประสะกานพลู นำไพลมาผสมร่วมกับดอกกานพลู เหง้าขิงแห้ง เทียนดำ เทียนขาว ฯลฯ ช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง จุกเสียดแน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย เนื่องจากธาตุไม่ปกติ หญิงตั้งครรภ์และผู้ที่มีไข้ไม่ควรใช้ยานี้

2. ประสะไพล ประกอบด้วยเหง้าไพลผสมกับผิวมะกรูด การบูร ฯลฯ ใช้ในสตรีที่ระดูมาไม่สม่ำเสมอหรือมาน้อยกว่าปกติ และขับน้ำคาวปลาในสตรีหลังคลอดบุตร ไม่ควรใช้ในหญิงที่มีระดูมากกว่าปกติ หญิงตั้งครรภ์ หรือหญิงตกโลหิตหลังคลอด

3. แก้ลมอัมพฤกษ์ ประกอบด้วยเหง้าไพล เหง้าขมิ้นอ้อย เหง้าข่า ผักเสี้ยนผี การบูร ผสมกับสมุนไพรอื่น ๆ ใช้บรรเทาอาการปวดตามเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ มือ เท้า ตึงหรือชา แต่ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีไข้ และเด็ก

4. ผสมเถาวัลย์เปรียง ประกอบด้วยเหง้าไพลผสมกับเถาวัลย์เปรียง และสมุนไพรอื่นๆ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย แต่ไม่ควรใช้กับหญิงตั้งครรภ์ รวมทั้งผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร

วิธีใช้ไพลรักษาอาการต่างๆ

สูตรน้ำมันไพล

ส่วนผสม

1. หัวไพลสดหั่นเป็นชิ้นบางๆ 2 ถ้วยตวง

2. น้ำมันมะพร้าว 1 ถ้วยตวง

3. การบูร 1 ช้อนชา

4. ดอกกานพลู 1 ช้อนชา

วิธีทำ

1. เทน้ำมันมะพร้าวลงกระทะแล้วยกขึ้นตั้งไฟ พอน้ำมันร้อนจัดให้ใส่ไพลที่หั่นเป็นชิ้นบางๆ เตรียมไว้แล้วลงไปทอดในน้ำมัน

2. ลดไฟลงให้ร้อนปานกลาง ทอดจนไพลกรอบเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแก่ (ระวังไหม้) จะได้น้ำมันเป็นสีเหลืองใส ช้อนเอาเนื้อไพลออก

3. จากนั้นตำกานพลูให้ป่น นำลงทอดในน้ำมันต่อ และลดไฟให้เหลือไฟอ่อนๆ เพื่อกันไม่ให้น้ำมันที่อยู่ในกานพลูระเหยไป

4. ทอดประมาณ 10 นาที แล้วกรองด้วยผ้าขาวบาง พอน้ำมันอุ่นจึงผสมการบูรลงในน้ำมัน แล้วเทลงภาชนะที่สามารถปิดฝาได้สนิท เพื่อป้องกันการระเหย

5. เมื่อน้ำมันเย็นดีแล้ว ให้เขย่าหรือใช้ช้อนคนจนเข้ากันดี แล้วแบ่งบรรจุขวดเล็กปิดฝาให้แน่น เพื่อนำไปใช้ต่อไป

สรรพคุณและวิธีใช้น้ำมันไพล

1. แก้แผลช้ำ ให้ทาน้ำมันเพียงบางๆ วันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น (ก่อนทาน้ำมันควรทำความสะอาดแผลทุกครั้ง)

2. แก้เคล็ด – บวมช้ำ ทาน้ำมันให้ทั่วบริเวณที่มีอาการ ใช้ฝ่ามือนวดเบาๆ ควรทาน้ำมันสัก 3 – 4 ครั้งต่อวัน

3. แก้ข้อบวมและเหน็บชา ควรทาน้ำมันให้โชก แล้วใช้ขวดใส่น้ำร้อนห่อด้วยผ้า ประคบบริเวณที่มีอาการวันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น หรือเวลาที่มีอาการปวดชา

​ข้อควรระวังในการใช้ไพล

ไม่ควรรับประทานไพลในปริมาณมาก หรือใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน

ขอขอบคุณ : sukkaphap-d

Facebook Comments

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here