น่าชื่นชม แนวคิดเปลี่ยนใบสับปะรดไร้ค่า ให้มีราคาสูงขึ้น 20 เท่า

0

แน่าชื่นชม แนวคิดเปลี่ยนใบสับปะรดไร้ค่า ให้มีราคาสูงขึ้น 20 เท่า

เยาวชน คือ อนาคตของชาติ ถ้าได้รับการศึกษาและการอบรมสั่งสอนที่ดีก็จะเติบโตมาอย่างมีคุณภาพ เป็นที่พึ่งพิงให้ครอบครัว ช่วยพัฒนาสังคมและประเทศชาติได้ หรือความสนใจเรียนรู้ การนำมาประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัยก็เป็นเรื่องที่ควรสนับสนุน เฉกเช่น น้องมัช หรือ เด็กชายพลพงษ์ ตินติพัฒน์พงศ์ เยาวชนคนเก่งที่มองเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ธรรมชาติ ผุดไอเดียแสนเก๋ นำใบสับปะรดมาเพิ่มมูลค่าได้อย่างน่าอัศจรรย์

เพิ่มมูลค่ากระดาษใยสับปะรด

การอนุรักษ์ธรรมชาติ ทำได้หลากหลายวิธีไม่ว่าจะเป็น reuse, recycle, reduce และใบสับปะรดที่หลายคนมักจะมองข้ามและถูกทิ้งให้เป็นขยะ กลับมีประโยชน์เมื่อเด็กชายคนนี้ นำมาแปรรูปเป็นกระดาษจากใยสับปะรด ในโครงการ Ever leaves เพื่อนำไปผลิตเป็นกระเป๋าอเนกประสงค์ กระเป๋าใส่บัตร และที่พันหูฟัง ของใช้งานในชีวิตประจำวัน ซึ่งสามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนยุคดิจิตอลที่อยากมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ธรรมชาติไปด้วย

สินค้าที่แปรรูปที่มีต้นกำเนิดจากใบสับปะรด นอกจากจะมีความทนทานแล้ว ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญ สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าของเกษตรกรให้มีราคาสูงมากกว่า 20 เท่า

คุณสมใจ บุญใส สมาชิกกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เล่าว่า แต่ก่อนนั้นทางกลุ่มนำกระดาษจากใยสับปะรดมาผลิตเป็นที่ใส่ไม้จิ้มฟัน กล่องกระดาษทิชชู และสินค้าอื่นๆ ขายได้ในราคาต่ำ ทำกำไรไม่มากนัก หากไม่แปรรูปแล้วกระดาษใยสับปะรดจะขายได้น้อย ไม่เป็นที่นิยม ปัญหาที่ทราบกันดีก็คือ ราคาสับปะรดเองก็ถูกมาก ยิ่งปี 2561 นี้ ราคาตกต่ำสุดในรอบ 11 ปี เกษตรกรมีรายได้น้อยลง พอมีโครงการ Ever leaves ของน้องมัช มาช่วยให้คำแนะนำ เสนอเสริมไอเดียว่าควรจะนำกระดาษจากใยสับปะรดไปทำเป็นผลิตภัณฑ์แบบไหนที่ช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าให้ได้ราคาสูงมากขึ้น และได้ขยายฐานกลุ่มลูกค้าไปยังกลุ่มอื่น ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

น้องมัช มีความสนใจและมักจะมองเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ และที่มาที่ไปของโครงการ Ever leaves ก็เพราะเห็นว่าในแต่ละปีหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตของสับปะรด มีส่วนอื่นๆ ที่เหลือใช้ ซึ่งเกษตรกรนำไปขายเป็นปุ๋ยหรือเชื้อเพลิงในโรงงานปั่นไฟ ได้ราคาเพียง 50 บาท เท่านั้น ต่อใบสับปะรด 100 กิโลกรัม ซึ่งเป็นเงินจำนวนที่น้อยมาก

และยังมีกลุ่มเกษตรกรบางกลุ่มที่นำใบสับปะรดมาแปรรูปเป็นกระดาษ ซึ่งใบสับปะรด 30 กิโลกรัม จะได้ใยสับปะรด 15 กิโลกรัม ผลิตกระดาษจากใยสับปะรดได้ 60 แผ่น ขายได้ในราคาแผ่นละ 10 บาท นอกจากนี้ เกษตรกรยังนำกระดาษจากใยสับปะรดมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์พื้นบ้านอยู่บ้าง แต่ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าไรนัก

ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่

เมื่อเห็นดังนั้นจึงมีความคิดที่อยากจะช่วยเหลือและให้คำแนะนำแก่พี่ๆ ป้าๆ ลุงๆ ที่เป็นเกษตรกรไร่สับปะรด จึงได้ริเริ่มก่อตั้งโครงการ Ever leaves เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรับปรึกษา แนะแนวความรู้และหนทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการผลิตกระดาษจากใยสับปะรดให้มีคุณภาพและความสวยงามคงทนมายิ่งขึ้น สิ่งสำคัญคือต้องทำให้ถูกใจคนสมัยใหม่ ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนหนุ่มสาวในยุคปัจจุบัน เช่น การนำมาทำที่ใส่โทรศัพท์มือถือ กระเป๋าสตางค์ กระเป๋าอเนกประสงค์ ที่พันหูฟัง กระเป๋าใส่บัตร ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าและยอดขายได้มากกว่า 20 เท่าของราคากระดาษใยสับปะรด

จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ คือผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รูปแบบทันสมัยและตอบโจทย์การใช้งานกับเครื่องมืออุปกรณ์ในยุคปัจจุบัน ซึ่งกลุ่มลูกค้าเป็นวัยรุ่นที่นิยมสินค้าที่ตอบโจทย์การใช้งานอุปกรณ์ที่ทันสมัย และกลุ่มนักท่องเที่ยว

และพวกเขาไม่ได้ทำกันเล่นๆ เนื่องจากมีการวิจัยด้านการตลาดมาแล้วเป็นอย่างดี ศึกษากระทั่งการใช้งานของกลุ่มลูกค้า สินค้าทั้ง 3 ชนิด มีจุดเด่นและได้รับความสนใจจากผู้คนมากมาย ตอบโจทย์การแก้ปัญหาได้อย่างน่าพอใจ

ที่สำคัญ ยังไม่มีคู่แข่ง ไม่มีใครที่นำใยสับปะรดมาแปลรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ดังนั้นผลิตภัณฑ์ของที่นี่จึงยึดครองตลาดแต่เพียงผู้เดียว น้องมัชอธิบายว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีรูปแบบทันสมัยที่ทำจากกระดาษใยสับปะรด ยังไม่มีคู่แข่งรายอื่นทำ แต่อาจจะมีสินค้าที่มีอรรถประโยชน์ในการใส่อุปกรณ์ต่างๆ เหมือนกันที่ทำจากวัสดุอื่น ซึ่งมีราคาแตกต่างกันไป

ในการแปรรูปใบสับปะรดเพื่อนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่ว่านี้ น้องมัชบอกว่า ใช้เงินลงทุนไปประมาณ 500,000 บาท ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการโปรโมตและขายสินค้า คาดว่าจะได้เงินทุนคืนใน 1-2 ปี แต่ก็มีปัญหาอุปสรรคบ้าง ในช่วงเริ่มการผลิต เนื่องจากจำนวนผลิตน้อย ทำให้ต้นทุนสูง และต้องทำการโปรโมตเพื่อให้เป็นที่รู้จัก

เตรียมขยายตลาดออนไลน์

แน่นอนว่ามีการวางแผนการตลาดเอาไว้เรียบร้อย หนุ่มน้อยได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในอนาคตจะเพิ่มรูปแบบและดีไซน์ต่างๆ ให้มีความหลากหลายมากขึ้น รวมไปถึงการโปรโมตผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม เพื่อจะได้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าและผู้บริโภคใหม่ๆ กว้างขวางมากขึ้น

“ผมหวังว่าจะสร้างภาพลักษณ์ที่ทันสมัยให้กับผลิตภัณฑ์จากวัสดุพื้นบ้าน และสนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน โดยปัจจุบันได้ให้ความช่วยเหลือและร่วมงานกับกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งถือเป็นเมืองหลวงของสับปะรด เนื่องจากมีพื้นที่ปลูกสับปะรดมากที่สุดในประเทศ และยังเป็นพืชเศรษฐกิจส่งออกมากที่สุดในประเทศอีกด้วย

นอกจากนี้ ผมยังคาดหวังว่า Ever leaves จะเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับคุณภาพสินค้าแปรรูปจากวัสดุธรรมชาติให้มีมูลค่าเพิ่มและมีความเป็นสากลมากขึ้น เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเกษตรกร และสามารถต่อยอดถ่ายทอดความรู้ไปสู่การพัฒนาส่วนอื่นๆ ต่อไป” น้องมัช กล่าว

ผู้ประกอบการอายุน้อย ยังได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่สนใจอยากทำธุรกิจดังกล่าวว่า หากเราอยากจะเพิ่มมูลค่าสินค้าโดยการแปรรูป ควรมองหาวัตถุดิบเหลือใช้หรือสิ่งที่มีมากเกินจำเป็น ที่สามารถนำมาปรับเปลี่ยนให้มีความแตกต่างและโดดเด่น และต้องมีความสวยงามของ texture หรือคุณสมบัติพิเศษอื่นๆ เช่น ความคงทน และที่สำคัญ ควรทำการทดลองผลิตว่าสามารถทำผลิตภัณฑ์ได้จริง ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน

สินค้าที่ผลิตจากกระดาษใยสับปะรดของโครงการ Ever leaves ตอนนี้มีอยู่ 3 ชนิด คือ

1. กระเป๋าอเนกประสงค์ ใส่มือถือ เงิน หรือเครื่องเขียน ราคา 359 บาท

2. กระเป๋าใส่บัตร ราคา 259 บาท

3. ที่พันหูฟัง ราคา 159 บาท

สินค้าทั้ง 3 ชนิด ได้เสริมวัสดุด้านใน ตัดเย็บอย่างดี มีความทนทาน กันน้ำ และผลิตจากผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผู้สนใจสามารถชมสินค้าเพิ่มเติมและสั่งซื้อได้ที่เว็บไซต์ everleaves.org

เป็นเยาวชนที่มีความคิดกว้างไกลมากๆ เป็นตัวอย่างที่ดีในสังคมอีกคน ในอนาคตหวังว่าน้องมัช จะสามารถนำความรู้ที่ได้รับมาพัฒนาบ้านเมือง เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ชุมชนและเกษตรกรต่อไป

ขอบคุณที่มา : sentangsedtee

เรียบเรียงโดย : Postsara

Facebook Comments

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here