คนไทยยิ่งอ่าน! เปิดตำราชีวิต”เจ้าสัวซีพี”มหาเศรษฐีอันดับ1”

0

คนไทยยิ่งอ่าน! เปิดตำราชีวิต”เจ้าสัวซีพี”มหาเศรษฐีอันดับ1”

ช่วงเวลาช่างผ่านไปรวดเร็วเหลือเกิน เมื่อเราลองมองย้อนกลับไปในอดีต มีหลากหลายเหตุการณ์ย้อนเรื่องราวที่ผ่านพ้นไปเมื่อวันวาน

ธนินท์ เจียรวนนท์ ในปัจจุบันอายุก้าวเข้าสู่วัย 79 ปี พ่อของเขาชาวจีนโพ้นทะเลจากเมืองแต้จิ๋ว ได้หอบเอาเสื่อผืนหมอนใบและเมล็ดพันธุ์ผักถุงใหญ่รอนแรมมาจนกระทั่งถึงเมือง หมั่งก๊ก หรือที่เรียกกันว่า Bangkok แล้วทำการเปิดร้านจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ที่ชื่อว่า เจียไต๋จึง เป็นภาษาแต้จิ๋วแปลว่าความซื่อสัตย์ ยุติธรรม เที่ยงตรง ซึ่งกลายมาเป็นรากฐานของธุรกิจในเครือโภคภัณฑ์จนถึงทุกวันนี้

เจี่ย เอ็กชอ นักพัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์ตัวยง เมื่อมีสวนผักทั้งที่เมืองแต้จิ๋วและเมืองไทย ก็คัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีจากสวนผักทั้ง 2 แห่ง มาขยายผลต่อ ทำให้นึกถึงสุภาษิตโบราณของจีนที่กล่าวถึงความสำคัญของการอ่านตำราหมื่นเล่ม กับการเดินทางไกลหมื่นลี้ เพื่ออธิบายว่าความรู้ทั้งจากตำราและประสบการณ์ล้วนสำคัญ แต่สำหรับเจี่ย เอ็กชอ ผู้มีโอกาสเรียนรู้จากโลกกว้างนั้น การเรียนรู้จากประสบการณ์สำคัญยิ่งกว่าตำรา

อิทธิพลทางความคิดจากพ่อ

ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา เมื่อญี่ปุ่นขยายแนวรบเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กิจการเมล็ดพันธุ์เจียไต๋พลอยได้รับผลกระทบ เจี่ย เอ็กชอ จึงพาครอบครัวหนีเครื่องบินทิ้งระเบิดจากถนนเยาวราชไปอยู่ถนนตก ถือเป็นบริเวณชานเมืองกรุงเทพฯ

ชีวิตในท้องนาท้องไร่กับเป็ดไก่ ทำให้ธนินท์ ซึ่งขณะนั้นมีอายุ 3 ขวบ เกิดความรู้สึกผูกพัน ถึงขั้นที่ว่านำเงินแต๊ะเอี๊ยไปซื้อไก่ชนตั้งแต่อายุ 9 ขวบ เพราะหลงใหลในความสง่างาม แข็งแรง บึกบึนของมัน

และอาจเป็นเพราะชะตาฟ้าลิขิตให้รู้สึกผูกพันกับสัตว์ปีกแต่วัยเยาว์ วันหนึ่งกิจการเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาเป็น “เจริญโภคภัณฑ์” (ซีพี) ขยายมาทำอาหารสัตว์จนลงตัวที่ธุรกิจเลี้ยงไก่ ธนินท์ได้รับมอบหมายให้เป็นทัพหน้า คอยประคบประหงมกิจการที่เกิดขึ้นใหม่ โดยแนวคิดสำคัญของธุรกิจใหม่นี้ คือ “ทำอาหารสัตว์ หากไม่เลี้ยงสัตว์ให้ดู ใครจะเชื่อถืออาหารสัตว์ที่ทำขึ้นมา” และในยุคนั้น เนื้อไก่เป็นของดีมีราคา คนส่วนใหญ่จึงได้แต่กินโปรตีนจากไข่เป็นของดีราคาถูก

ยกประสบการณ์แต่ละครั้งเป็นครูเสมอมา

สาเหตุหลักที่ทำให้ราคาไก่เมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว แพง เป็นเพราะต้นทุนสูง มีข้อจำกัดยิบย่อยเต็มไปหมด ตั้งแต่ปริมาณไก่ที่เลี้ยงไปจนถึงค่าใช้จ่ายยิบย่อยต่างๆ นานา

ดังนั้น ธนินท์จึงเริ่มศึกษาวิธีการว่าต้องทำอย่างไรไก่จึงจะไม่กลายเป็นอาหารเกินเอื้อม คำตอบที่ได้มีเพียงการใช้เทคโนโลยีระดับสูง แต่เวลานั้น การเลี้ยงไก่อยู่ในความควบคุมดูแลของเกษตรกร ยังไม่ได้ศึกษาเทคโนโลยีใหม่ ทางซีพีจึงตัดสินใจนำเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกา โดยบริษัทอาร์เบอร์ เอเคอร์ส (Arbor Acres) มาวางรากฐานธุรกิจการเลี้ยงไก่สมัยใหม่ในประเทศไทย

ผลที่ได้คือ สามารถเพิ่มผลิตผลได้ 100 เท่า จากการเลี้ยงไก่แบบเดิมๆ 1 คน เลี้ยงได้ 100 ตัว เปลี่ยน ประวัติศาสตร์หน้าใหม่เป็น 1 คน เลี้ยงได้ 10,000 ตัว และในยุค 4G นี้ เกษตรกร 1 คน สามารถเลี้ยงไก่ได้มากถึง 170,000 ตัว หรือคิดเป็น 17 เท่าของยุคก่อน

หลังจากความสำเร็จในกิจการเลี้ยงไก่ ธนินท์กับพี่ๆน้องๆ ก็เริ่มขยายการลงทุนออกไปทั้งแนวกว้าง กระจายการลงทุนไปในหลายประเทศ บนพื้นฐานความคิดที่ว่า ต้องส่งเสริมการลงทุนในต่างแดนของนักธุรกิจไทย เพื่อประกาศให้ต่างชาติรู้ว่า คนไทยมีความรู้ความสามารถไม่แพ้ชาติใดในโลก

ธรรมชาติของนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จทุกคนรู้ดีว่า การทำธุรกิจย่อมมีผิดพลาด ในมุมของธนินท์มองว่า ความผิดพลาดคือค่าเล่าเรียน ถ้าผิดพลาด 30% สำเร็จ 70% ให้ถือว่า 30% เป็นค่าเล่าเรียนเพื่อให้ได้เรียนรู้ข้อผิดพลาด

ธนินท์เรียนรู้จากข้อผิดพลาดนับแต่เริ่มต้นทำงาน เช่น ครั้งไปบุกเบิกตลาดฮ่องกง ในช่วงที่มีปัญหาขาดแคลนอาหารเนื้อสัตว์ทั้งไก่และหมูจนต้องนำเข้าจากประเทศไทย ธนินท์มีแนวคิดแหวกแนวกว่าเจ้าอื่นๆ นั่นคือเช่าเหมาเครื่องบินการบินไทย เพื่อขนไก่เป็นๆ ไปส่งให้ฮ่องกง ซึ่งพี่ๆ ได้มอบหน้าที่ให้ธนินท์เป็นผู้ควบคุมการขนส่งครั้งนี้

บทเรียนล้ำค่าที่ธนินท์ได้รับโดยไม่คาดคิดเกิดขึ้น เมื่อกัปตันเห็นว่าผู้โดยสารของเที่ยวบินนี้เป็นไก่ จึงงดบริการเสิร์ฟน้ำและอาหาร ปิดแอร์ในห้องผู้โดยสาร แล้วจัดให้ธนินท์มานั่งด้านหน้าร่วมกับนักบิน ทำให้ไก่ขาดอากาศ และค่อยๆ ตายไปทีละตัว เมื่อเห็นเช่นนั้น เขาจึงได้ขอให้นักบินผู้ช่วยออกมาช่วยเปิดแอร์ให้ไก่ แต่ก็ไม่สามารถช่วยชีวิตไก่ได้หมด ไก่ตายไปกว่าครึ่ง เหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลให้ธนินท์เข้าใจถึงคำว่าขาดทุนตั้งแต่ยังไม่ได้แลนดิ้ง เป็นบทเรียนที่มีผลต่อก้าวย่างของซีพีจนถึงวันนี้

และอีกครั้งที่ธนินท์ได้รับมอบงานสำคัญ คือการรับผิดชอบขนหมูส่งฮ่องกงทางเรือ ที่ประสบปัญหาหมูตายทุกครั้งที่เรือเข้าฝั่ง พี่ชายจึงส่งธนินท์ไปทดลองแก้ปัญหาโดยให้ข้อเสนอว่า ถ้ามีหมูตายน้อยลง 1 ตัว เขาจะได้ เงินพิเศษ 100 บาท

ธนินท์ทำการบ้าน โดยพยายามสังเกตหาสาเหตุ จนพบว่าการตายของหมูเชื่อมโยงกับการโคลงเคลงของเรือตามทิศทางลมแต่ละฤดู เขาจึงทดลองจัดวางตำแหน่งใหม่ โดยนำหมูไปไว้ตรงกลางเรือในช่วงหน้าร้อน และย้ายหมูไปท้ายเรือในช่วงหน้าหนาว หลังจากนั้นหมูก็ตายน้อยลง

พัฒนาตน ก้าวสู่ในโลกยุค 4.0

ในทัศนะของธนินท์ คนไทยเก่งเรื่องภาคเกษตรและมีโอกาสมากจากผลผลิตเกษตรด้านอาหารมาตลอดแม้กระทั่งอาหารไทย ก็ได้สร้างชื่อเสียงแก่ประเทศมานานแล้ว

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ใน 2 ปีที่ผ่านมาสถาบันวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้สนใจร่วมพัฒนาไบโอเทคโนโลยีอาหารเพื่อสุขภาพแก่ผู้สูงอายุกับซีพี เป็นบริษัทแรกของโลกที่อยู่นอกเหนือกลุ่มยาที่เป็นโครงการงานวิจัยพัฒนาหลักของฮาร์วาร์ด

และในเร็วๆ นี้ อาหารสุขภาพที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดร่วมพัฒนากับซีพี จะตอบโจทย์สังคมผู้สูงวัยของประเทศ เพื่อให้ผู้สูงวัยมีโอกาสใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขกับสุขภาพที่ดีขึ้นและมีอายุยืนยาวกว่าที่ผ่านมา

โลกในยุค 4.0 นี้ ผลผลิตด้านอุตสาหกรรมทุกสาขาต้องพึ่งพาเทคโนโลยีชั้นสูง โดยภายใต้สังคมยุคข้อมูลข่าวสารที่ดีและเร็วขึ้นเรื่อยๆ การพัฒนาทรัพยากรบุคคลและนวัตกรรมใหม่ๆทางเทคโนโลยี จำเป็นต้องก้าวไปด้วยกันเพื่อเป็นอาวุธในการแข่งขันกับโลกภายนอก

เพราะฉะนั้น บทสรุปบนเส้นทางสู่ความสำเร็จของธนินท์ คือ “เก่งแล้วไม่ขยัน จะไม่มีวันเก่งจริง” เพราะการทำงานหรือประสบการณ์นั้น หาไม่ได้จากห้องเรียน ต่อให้มีความรู้ความจำเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ แต่เมื่อไม่ลงมือปฏิบัติ ไม่สั่งสมประสบการณ์ ก็ไม่สามารถคว้าความสำเร็จได้ ผู้ประสบความสำเร็จระดับโลกไม่ว่าจะเป็น บิล เกตต์ หรือ แจ๊ค หม่า ล้วนประสบความสำเร็จจากประสบการณ์และการปฏิบัติจริงทั้งสิ้น

ขอขอบคุณ : เส้นทางเรษฐีออนไลน์, มติชนออนไลน์

Facebook Comments

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here