กรุงเทพไปเชียงใหม่ 35 นาที แคปซูล HYPERLOOP
เปิดตัวแคปซูลผู้โดยสารขนาดเต็มรูปแบบครั้งแรกของโลก ถือว่าเป็นการเปิดตัวในเรื่องของความเร็วสูงแห่งอนาคต ตัวของแคปซูลนั้นมีความยาวถึง 32 เมตร และมีน้ำหนักทั้งหมด 5 ตัน เปิดตัวในสเปน ก่อนที่จะย้ายไปยังเมืองตูลูส ที่ฝรั่งเศส
เพื่อทำการประกอบชิ้นส่วนเพิ่มเติมก่อนที่จะเริ่มใช้ในการเดินรถเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรก Hyperloop เทคโนโลยีนี้เป็นสิ่งที่จุดประกายโดย Elon Musk ที่ได้เริ่มโครงการในช่วงปี 2013 เพราะ Elon Musk ไม่ค่อยพอใจกับการวางแผนสร้างรถไฟความเร็วสูงของแคลิฟอร์เนีย พร้อมทั้งกระตุ้นให้หลายบริษัทเข้าร่วมแข่งขันสร้างระบบขนส่งความเร็วสูง ที่คาดว่าจะเคลื่อนย้ายผู้โดยสารด้วยความเร็วของแคปซูลที่ 1200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
เป็นความเร็วที่ผ่านท่อแรงดันต่ำเพื่อลดการเสียดสี โดยเทคโนโลยีนี้จะขับเคลื่อนตัวแคปซูลโดยการยกให้ลอยขึ้น เพื่อลดแรงเสียดสีต่างๆขณะที่กำลังวิ่งด้วยความเร็วสูงนั่นเอง ส่วนรายอื่นที่เข้ามาทำเรื่องนี้ไม่ใช่ใครที่ไหนเลย ริชาร์ด แบรนสัน คนคนนี้ที่ทำการเปิดโครงการ Virgin Hyperloop One โดยไปเปิดตลาดที่อินเดีย
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับบริการที่ล้ำสมัย แต่ราคาถูกกว่าสายการบินในประเทศ เส้นทางในระบบ Mumbai-Pune ซึ่งจะลดเวลาเดินทางจาก 3 ชั่วโมงเหลือเพียง 25 นาที
นายธนาธร โพสต์ข้อความผ่านเพจ Thanathorn Juangroongruangkit พูดถึงไฮเปอร์ลูป ซ้ำอีกครั้งอย่างจริงจัง โดยระบุว่า [ Hyperloop อนาคตใหม่ของระบบขนส่งมวลชนไทย ที่ไปไกลกว่ารถไฟความเร็วสูง ]
ไปอเมริการอบนี้ ผมกับคุณช่อได้ไปคุยกับบริษัทผู้พัฒนานวัตกรรมไฮเปอร์ลูประดับโลกถึง 3 แห่ง หนึ่งในนั้นคือ Virgin Hyperloop One ซึ่งดูจะเป็นบริษัทที่พัฒนาระบบมาได้ไกลและเป็นรูปธรรมที่สุดตอนนี้
เราได้ไปเยือนฐานทดสอบไฮเปอร์ลูปกลางทะเลทรายในเนวาดา ที่ซึ่งระบบรางไฮเปอร์ลูปแห่งแรกของโลกตั้งอยู่ และได้คุยกับร็อบ เฟอร์เบอร์ ผอ.ฝ่ายวิศวกรรมของ Virgin Hyperloop One เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการสร้างรถไฟไฮเปอร์ลูปในไทย
ร็อบยืนยันว่าไฮเปอร์ลูปเป็นระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพที่สุดในโลก รวดเร็วระดับ 1,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้พลังงานเพียง 15% ของรถไฟแมกเลฟที่ทันสมัยที่สุดของญี่ปุ่น ทำให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
แถมยังมีราคาถูกกว่า ทั้งในด้านการลงทุนราง และระบบปฏิบัติการ (ทั้ง capex และ opex) โดยใช้เงินเพียงครึ่งเดียวของรางรถไฟความเร็วสูง ซึ่งการใช้งบประมาณน้อยกว่า เท่ากับระยะเวลาคืนทุนที่สั้นกว่าด้วย
การที่ยานพาหนะเคลื่อนที่ในอุโมงค์สูญญากาศด้วยแรงขับแม่เหล็กไฟฟ้า ทำให้ไม่มีแรงเสียดทานจากล้อกับรางและจากลม การใช้พลังงานจึงประหยัดที่สุด ลดการนำเข้าพลังงาน และสามารถทำให้ประเทศไทยใช้พลังงานน้อยลงในการขนส่งผู้โดยสารอีกด้วย
ที่สำคัญที่สุด ไฮเปอร์ลูปเป็นนวัตกรรมล้ำยุคก็จริง แต่ระบบทั้งหมดกลับเรียบง่ายจนสามารถผลิตที่ไหนก็ได้ในโลก นอกจากระบบขับเคลื่อนที่เป็นเทคโนโลยีของ Virgin Hyperloop One ระบบอื่นเช่น ราง ตัวรถ รวมถึงอุโมงค์สูญญากาศที่ใช้สำหรับควบคุมสภาพแวดล้อมของระบบรางรถไฟ สามารถผลิตได้ในไทย
เท่ากับว่าหากเราสร้างไฮเปอร์ลูปในไทยได้จริง นอกจากคนไทยจะได้ใช้ระบบขนส่งมวลชนที่เร็ว เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สะดวกสบาย และราคาไม่แพง ยังสามารถก่อเกิดการจ้างงานและการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศขนานใหญ่ด้วย อนาคตใหม่ คืออนาคตที่เรากล้าฝันให้ใหญ่ ลงทุนอย่างมีวิสัยทัศน์ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของคนไทย
ขอขอบคุณ : Thanathorn Juangroongruangkit